top of page

จำแนกและใช้คำที่มาจากภาษาต่างประเทศ

           การยืมคำภาษาต่างประเทศมาใช้ในภาษาไทยทำให้ภาษามีความเจริญงอกงามและมีคำใช้มากขึ้น ลักษณะเช่นนี้ไม่เป็นการเสียหายประการใด ทั้งนี้เพราะมีการติดต่อระหว่างประเทศทั้งทางการทูต การค้าและวิทยาการต่างๆ มีการรับความรู้ซึ่งกันและกัน รวมทั้งการถ่ายทอดวัฒนธรรมและศาสนา จึงมีคำภาษาต่างประเทศในภาษาไทยหลายภาษา ได้แก่ ภาษาบาลี ภาษาสันสกฤต ภาษาเขมร ภาษาจีน คำชวา คำมลายู คำภาษาอังกฤษ คำฝรั่งเศส คำโปตุเกส คำภาษาอาหรับ เป็นต้น

           การยืมคำจากภาษาบาลีและสันสกฤต                                                                                                                                                                                                                                                                             คำยืมจากภาษาบาลีและสันสกฤตที่นำมาใช้ในภาษาไทย สามารถแบ่งเป็นประเภทได้ดังต่อไปนี้

           1.ใช้เป็นราชาศัพท์   ราชาศัพท์ที่สร้างจากคำบาลีสันสกฤตมีมาก   เช่น  พระบรมราโชวาท  พระราชเสาวนีย์  ในทางปฏิบัติ คำว่าราชาศัพท์หมายรวมถึงคำที่คฤหัสถ์ใช้กับพระสงฆ์และพระสงฆ์ใช้ในหมู่พระสงฆ์กันเองด้วย  เช่น  อาพาธ  มรณภาพ  นมัสการ  อีกทั้งยังหมายรวมถึงคำภาษาแบบแผนและคำสุภาพทั่ว ๆ ไปซึ่งใช้กับข้าราชการและสุภาพชนอีกด้วย (ราชบัณฑิตยสถาน. , 2546 , หน้า 952) แต่จะแยกกล่าวในข้อต่อ ๆ ไป

           2.ใช้เป็นศัพท์เฉพาะทางศาสนา ศัพท์เฉพาะเหล่านี้นิยมสร้างหรือยืมจากบาลีสันสกฤตเช่นกัน  เช่น  นิวรณ์  มุสาวาท  โผฏฐัพพะ  อิทธิบาท  เวทนา 

           3.ใช้ในทางวรรณคดี ซึ่งใช้เฉพาะในร้อยกรอง โดยปรกติการเปลี่ยนแปลงเสียงของคำมักเป็นไปเพื่อความเหมาะสมกับบทประพันธ์ ที่เรียกว่า การกลายเสียงโดยเจตนาด้วย  เช่น  เวหน สุริยง  เกศา  มยุเรศ  มาลี  ราษตรี

           4.ใช้ในภาษามาตรฐานหรือใช้เป็นคำสุภาพ ใช้ทั้งในภาษาพูดและภาษาเขียน  เช่น   บิดา  มารดา  สามี  ภริยา  ภรรยา  บุตร  ธิดา  ประสงค์  นาม

           5.ใช้เป็นศัพท์บัญญัติ หรือศัพท์เฉพาะทางวิชาการ แต่บางทีก็อาจมีการหาคำใหม่ที่ยังไม่เคยใช้ในภาษาไทยมาใช้ก็ได้ เช่น เจตคติ นันทนาการ บรรยเวกษ์

           6.ใช้เป็นคำสามัญ คือคำภาษาพูดที่ใช้สนทนาทั่วไปในชีวิตประจำวัน เช่น อายุ เศรษฐี โรค ปัญหา ภาษา ชาติ ประเทศ สัตว์ หิมะ เวลา อาหาร

           7.ใช้เป็นชื่อเฉพาะ  ชื่อวัน  เดือน  ดวงดาวและกลุ่มดาวบนท้องฟ้า  เทพเจ้าทั้งชายและหญิง  ตลอดจนชื่อบุคคลในประวัติศาสตร์  ตำนาน  และเทพนิยายต่าง ๆ ชื่อสถานที่และอื่น ๆ เช่น  ชื่อจังหวัด  อำเภอ  แม่น้ำ  และภูเขา  เป็นต้น 

           การสังเกตคำบาลีและสันสกฤต

ภาษาบาลี

ภาษาสันสกฤต

  • ใช้สระ อะ อา อิ อี อุ อู เอ โอ เช่น อริยะ สาระ อิสี อุตุ เสล โมลี

  • ใช้สระอะ อา อิ อี อุ อู เอ โอ และเพิ่ม ฤ ฤๅ ฦ ฦๅ ไอ เอา เช่น ฤษี ฤดู กฤษณ์

  • ใช้ ส เช่น สาสนา ลิสสะ สันติ วิสาสะ สาลา สิริ สีสะ

  • ใช้ ศ ษ เช่น ศาสนา ศิษย์ ศานติ พิศวาส ศาลา ศีรษะ

  • ใช้พยัญชนะสะกดและตัวตามตัวเดียวกัน เช่น ธัมม กัมม มัคค สัคค สัพพ วัณณ

  • ใช้ตัว รร แทน ร ( ร เรผะ) เช่น ธรรม กรรม มรรคสวรรค์ สรรพ วรรณ

  • ใช้พยัญชนะเรียงพยางค์ เช่น กริยา สามี ฐาน ถาวร ปทุม เปม ปิยะ ปฐม ปชา

  • ใช้อักษรควบกลํ้ า เช่น กริยา สวามี สถาน สถาวร ปัทมะ เปรม ปรียะ

  • ใช้ ฬ เช่น จุฬา กีฬา บีฬ ครุฬ

  • ใช้ ฑ เช่น จุฑา กรีฑา บีฑา ครุฑ

  • มีหลักตัวสะกดตัวตามที่แน่นอน

  • ไม่มีหลักตัวสะกดตัวตาม

 

           การยืมคำจากภาษาเขมร                                                                                                                                                                                                                                                                                                คำยืมจากภาษาเขมรที่นำมาใช้ในภาษาไทย มีลักษณะ ดังต่อไปนี้

  • ส่วนมากมักใช้เป็นคําราชาศัพท์ เช่น เสวย เขนย ถวาย ขนง โปรด ตรัส เสด็จ ดําเนิน ทรงผนวช ประชวร บรรทม ธํามรงค์ ประทับ เพลา กันแสง สรง ฯลฯ

  • คําเขมรที่ใช้ในคําสามัญทั่วไป เช่น กระบือ กระบาล โตนด โขมด จมูก เสนียด เพนียด ตํ าบล ถนน จังหวัด ทําเนียบ ลําเนา ชุมนุม ชมรม ฯลฯ

  • คําเขมรที่เป็นคําโดดคล้ายกับภาษาไทย จนเราเองลืมไป คิดว่าเป็นคําไทย แต่มีที่สังเกตได้ว่าเป็นคำ เขมระต้องแปลความหมายก่อนจึงจะเข้าใจ เช่น แข - ดวงจันทร์ บาย- ข้าว เมิล- มอง ศก- ผม ฯลฯ

           ข้อสังเกตคำที่มาจากภาษเขมร

                1. มักสะกดด้วยพยัญชนะ จ ญ ร ล ส เช่น

                2. เป็นศัพท์พยางค์เดียวที่ต้องแปลความหมาย

                3. เป็นศัพท์ที่ใช้พยัญชนะควบกลํ้า อักษรนำ

                4. มักแผลงคำได้

 

           การยืมคำจากภาษาจีน

           ส่วนใหญ่ภาษาจีนที่ไทยนำมาใช้มักจะเป็นชื่ออาหาร รองลงไปก็เป็นชื่อที่ใช้ในการค้า ชื่อคน ภาษาจีนจัดเป็นภาษาคำโดดเช่นเดียวกับภาษาไทย นั่นคือคำส่วนมากมักเป็นพยางค์เดียว การเรียงลําดับในประโยคมักขึ้นต้นด้วยประธาน ตามด้วยกริยาและกรรม มีลักษณนาม มีเสียงวรรณยุกต์ คําคําเดียวมีหลายความหมาย และมีการใช้คำซ้ำเหมือนกัน ต่างกันแต่วิธีขยายคำหรือข้อความ เพราะว่าภาษาไทยให้ขยายอยู่หลังคําที่ถูกขยาย แต่ภาษาจีนให้คําขยายอยู่หน้าคําที่ถูกขยาย การใช้คําภาษาจีนในภาษาไทย จีนใช้ภาษาหลายภาษา แต่ที่เข้ามาปะปนภาษาไทยมากที่สุดคือ ภาษาจีนแต้จิ๋ว ซึ่งเป็นภาษาถิ่นของคนจีนแถบซัวเถา คำที่รับมาใช้ส่วนใหญ่เกี่ยวกับอาหารการกิน คำที่ใช้ ในวงการค้าและธุรกิจ และคําที่ใช้ในชีวิตประจําวันบ่อยๆ                          ภาษาจีนมีลักษณะคล้ายคลึงกับภาษาไทยมาก คือ เป็นภาษาคำโดดมีเสียงวรรณยุกต์ยเมื่อนำคำภาษาจีนมาใช้ในภาษาไทยซึ่งมีวรรณยุกต์และสระประสมใช้จึงทำให้สามารถออกเสียงวรรณยุกต์และสระตามภาษาจีนได้อย่างง่ายดายคำภาษาจีนยังมีคำที่บอกเพศในตัวเช่นเดียวกับภาษาไทยอีกด้วย เช่น เฮีย (พี่ชาย) ซ้อ (พี่สะใภ้) เจ๊ (พี่สาว)นอกจากนี้การสะกดคำภาษาจีนในภาษาไทยยังใช้ตัวสะกดตรงตามมาตราตัวสะกดทั้ง 8 มาตราและมีการใช้ทัณฑฆาต หรือตัวการันต์ด้วย

           หลักการสังเกตคำภาษาไทยที่มาจากภาษาจีน

          1.นำมาเป็นชื่ออาหารการกิน เช่น ก๋วยเตี๋ยว เต้าทึง แป๊ะซะ เฉาก๊วย จับฉ่าย เป็นต้น

          2.เป็นคำที่เกี่ยวกับสิ่งของเครื่องใช้ที่เรารับมาจากชาวจีน เช่น ตะหลิว ตึก เก้าอี้ เก๋ง ฮวงซุ้ย

          3.เป็นคำที่เกี่ยวกับการค้าและการจัดระบบทางการค้า เช่น เจ๋ง บ๋วย หุ้น ห้าง โสหุ้ย เป็นต้น

          4.เป็นคำที่ใช้วรรณยุกต์ตรี จัตวา เป็นส่วนมาก เช่น ก๋วยจั๊บ กุ๊ย เก๊ เก๊ก ก๋ง ตุ๋น เป็นต้น

     ตัวอย่างคำยืมที่มาจากภาษาจีน

  • กงสี กงฉิน กงไฉ่ กงเต็ก ก๋วยเตี๋ยว ก๋วยจั๊บ เกาหลา กุ๊ย เก๊เก๊ก เกี้ยว เกี๊ยว เกี๊ยะ กุยเฮง เก๊ก ก๋ง เก้าอี้ ขาก๊วย เข่ง จับกังจับฉ่าย จับยี่กี จันอับ เจ๊ง เจี๋ยน เจ เฉาก๊วย เซ้ง เซียน แซ่ แซยิดเซ็งลี้ ซาลาเปา ซิ้ม ตะหลิว เต๋า ตุน ตุ๋น แต๊ะเอีย เต้าหู้ เต้าฮวยเต้าเจี้ยว โต๊ะ ไต้ก๋ง ตังเก บ๊วย บะฉ่อ บะหมี่ บู๊ ปุ้งกี๋ ปอเปี๊ยะแป๊ะเจี๊ยะ พะโล้ เย็นตาโฟ หวย ยี่ห้อ ลิ้นจี่ ห้าง หุ้น เอี๊ยม โสหุ้ยเฮงซวย ฮวงซุ้ย ฮ่องเต้ อั้งโล่

               
           การยืมคำที่มาจากภาษาอังกฤษ
ภาษาอังกฤษเป็นภาษาในตระกูลอินโด-ยุโรเปียน มีวิภัตติปัจจัย เช่นเดียวกับภาษาบาลี-สันสกฤต ภาษาอังกฤษได้รับความนิยมใช้เป็นภาษาเพื่อการสื่อสารมากที่สุด มีประเทศต่าง ๆ ยอมรับภาษาอังกฤษเป็นภาษาราชการ ภาษาอังกฤษจึงกลาย เป็นภาษาสากลของชาวโลก คนไทยได้ศึกษาภาษาอังกฤษเป็นภาษาที่สองมาเป็นเวลานาน จนภาษาอังกฤษเข้ามามีอิทธิพลต่อชีวิตของคนไทยมากขึ้น ทั้งในด้านการพูดและการเขียนสื่อสารในชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะในปัจจุบันคนไทยศึกษาความรู้และวิทยาการต่าง ๆ จากตำราภาษาอังกฤษ และสนใจเรียนรู้ภาษาอังกฤษกันมากขึ้น คำยืมจากภาษาอังกฤษจึงหลั่งไหลเข้ามาในภาษาไทยมากขึ้นทุกขณะทั้งในวงการ ศึกษา ธุรกิจ การเมือง การบันเทิง เป็นต้น
           หลักการยืมคำภาษาอังกฤษมาใช้ในภาษาไทย 
           1.การทับศัพท์ โดยการถ่ายเสียงและถอดตัวอักษร คำยืมจากภาษาอังกฤษโดยวิธีการทับศัพท์มีจำนวนมาก คำบางคำราชบัณฑิตยสถานได้บัญญัติศัพท์เป็นคำไทยแล้ว แต่คนไทยนิยมใช้คำทับศัพท์มากกว่า เพราะเข้าใจง่าย สื่อสารได้ชัดเจน เช่น
คำภาษาอังกฤษ คำทับศัพท์

    • game เกม

    • graph กราฟ

    • cartoon การ์ตูน

    • clinic คลินิก

    • quota โควตา

    • dinosaur ไดโนเสาร์

    • technology เทคโนโลยี

           2.การบัญญัติศัพท์ เป็นวิธีการยืมคำ โดยรับเอาเฉพาะความคิดเกี่ยวกับเรื่องนั้นมาแล้วสร้างคำขึ้นใหม่ ซึ่งมีเสียงแตกต่างไปจากคำเดิม โดยเฉพาะศัพท์ทางวิชาการจะใช้วิธีการนี้มาก ผู้ที่มีหน้าที่บัญญัติศัพท์ภาษาไทยแทนคำภาษาอังกฤษ คือ ราชบัณฑิตยสถาน เช่น
คำภาษาอังกฤษ คำบัญญัติศัพท์

    • airport สนามบิน

    • globalization โลกาภิวัตน์

    • science วิทยาศาสตร์

    • telephone โทรศัพท์

    • reform ปฏิรูป

           3.การแปลศัพท์ วิธีการนี้จะต้องใช้วิธีการคิดแปลเป็นคำภาษาไทยให้มีความหมายตรงกับคำในภาษา อังกฤษ แล้วนำคำนั้นมาใช้สื่อสารในภาษาไทยต่อไป ดังตัวอย่างเช่น

    • blackboard กระดานดำ

    • enjoy สนุก

    • handbook หนังสือคู่มือ

    • school โรงเรียน

    • short story เรื่องสั้น

 

           การยืมคำที่มาจากชวาและมลายู                                                                                                                                                                                                                                                                                     ภาษาชวา ปัจจุบันเรียกว่าภาษาอินโดนีเซีย เป็นภาษาตระกูลคำติดต่อ ตระกูลเดียวกับภาษามลายู ภาษาชวาที่ไทยยืมมาใช้ส่วนมากเป็นภาษาเขียน ซึ่งรับมาจากวรรณคดีเรื่อง ดาหลังและอิเหนาเป็นส่วนใหญ่ ถ้อยคำภาษาเหล่านี้ใช้สื่อสารในวรรณคดี และในบทร้อยกรองต่าง ๆ มากกว่าคำที่นำมาใช้สื่อสารในชีวิตประจำวัน                                                                                                                                                                                                                                         ภาษามลายูหรือภาษามาเลย์ ปัจจุบันเรียกว่า ภาษามาเลเซีย เป็นภาษาคำติดต่อ อยู่ในตระกูลภาษาชวา-มลายู คำส่วนใหญ่จะมีสองพยางค์และสามพยางค์ เข้ามาปะปนในภาษาไทยเพราะมีเขตแดนติดต่อกัน จึงติดต่อสัมพันธ์กันทั้งทางด้านการค้าขาย ศาสนา วัฒนธรรม มาเป็นเวลานาน โดยเฉพาะจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่ ยะลา สงขลา ปัตตานี นราธิวาส และสตูล ยังคงใช้ภาษามลายูสื่อสารในชีวิตประจำวันอยู่เป็นจำนวนมาก 

           การยืมคำภาษาชวา-มลายูมาใช้ในภาษาไทย

    1. ใช้ในการแต่งคำประพันธ์ เช่น บุหรง บุหลัน ระตู ปาหนัน ตุนาหงัน เป็นต้น

    2. ใช้สื่อสารในชีวิตประจำวัน เช่น กัลปังหา กุญแจ กระดังงา ซ่าหริ่ม ประทัด เป็นต้น

    3. นำมาใช้ในความหมายคงเดิม เช่น ทุเรียน น้อยหน่า บุหลัน เป็นต้น

           ตัวอย่างคำภาษาชวา-มลายูในภาษาไทย

    • กะพง กระจูด กะลาสี กะลุมพี กำยาน กำปั่น กระยาหงัน (สวรรค์) กะละปังหา กระแชง จับปิ้ง จำปาดะ ตลับ ทุเรียน บูดู ปาเต๊ะ มังคุด สละ สลัก สลาตัน สลัด สุจหนี่ โสร่ง หนัง ยะลา เบตง น้อยหน่า กริช กิดาหยัน (มหาดเล็ก) กุหนุง (เขาสูง) กุญแจ การะบุหนิง (ดอกแก้ว) กระดังงา อิเหนา อังกะลุง อสัญแดหวา (เทวดา) ตุนาหงัน (คู่หมั้น) ยิหวา (ดวงใจ) บุหรง (นกยูง)  บุหลัน (ดวงจันทร์) บุหงา (ดอกไม้) อุรังอุตัง สะตาหมัน (สวน) บุหงารำไป ปาหนัน (ดอกลำเจียก) รำมะนา การะบุหนิง (ดอกแก้ว) กิดาหยัน (มหาดเล็ก) ซ่าโบะ (ผ้าห่ม) ซ่าหริ่ม ดาหงัน (สงคราม) ปันหยี ปั้นเหน่ง ประทัด บุษบามินตรา (ดอกพุทธรักษา) มาลาตี (ดอกมะลิ) มินตรา (ต้นกระถิน) มิรันตี (ดาวเรือง) สะการะตาหรา (ดอกกรรณิการ์) ตันหยง (ดอกพิกุล) กาหลา (ชื่อดอกไม้) ประไหมสุหรี มะเดหวี ระตู (เจ้าเมือง)

 

           คำภาษาอื่นๆ

  • ภาษาทมิฬ เช่น กะไหล่ กุลี กานพลู กำมะหยี่ จงกลนี ตรียัมปวาย ตะกั่ว ปะวะหล่ำ ยี่หร่า สาเก อาจาด กะละออม กะหรี่ (ชื่อแกงชนิดหนึ่ง)

  • ภาษาเปอร์เซีย เช่น กากี กาหลิบ กุหลาบ เกด (องุ่นแห้ง) เข้มขาบ (ชื่อผ้า) คาราวาน ชุกชี (ฐานพระประธาน) ตาด (ผ้าไหมปักเงินหรือทองแล่ง) ตรา (เครื่องหมาย) ตราชู (เครื่องชั่ง) บัดกรี (เชื่อมโลหะ) ปสาน (ตลาด) ฝรั่ง (คำเรียกชาวยุโรป) ราชาวดี (พลอยสีฟ้า) สุหร่าย (คนโทน้ำคอแคบ) องุ่น สักหลาด ส่าน (ผ้าคลุมกายหรือหน้า) เยียรบับ (ผ้าทอยก ดอกเงินหรือทอง)

  • ภาษาอาหรับ เช่น กะลาสี การบูร กั้นหยั่น กะไหล่ ฝิ่น โก้หร่าน

  • ภาษาญี่ปุ่น เช่น เกอิชา กิโมโน คามิคาเซ่ คาราเต้ เคนโด้ ซามูไร ซูโม่ ซากุระ เทมปุระ ฟูจิ สุกี้ยากี้ ยูโด

  • ภาษาโปรตุเกส เช่น สบู่ กัมปะโด ปิ่นโต กะละแม กะละมัง จับปิ้ง เลหลัง บาทหลวง ปัง ปิ่นโต เหรียญ

  • ภาษาฝรั่งเศส เช่น กงสุล กรัม กาสิโน กาแฟ กาเฟอีน กิโยติน กิโลกรัม กิโลลิตร โก้เก๋ เชมเปญ โชเฟอร์ คูปอง เปตอง ปาร์เกต์ คาเฟ่ ครัวซองท์ บุฟเฟต์ มองสิเออร์

  • ภาษาฮินดี เช่น อะไหล่ ปาทาน

  • ภาษาพม่า เช่น หม่อง กะปิ ส่วย

  • ภาษามอญ เช่น มะ เม้ย เปิงมาง พลาย ประเค

bottom of page